คอนเทนต์ออนไลน์ไม่ง่าย! แต่ ChatGPT ช่วยแบรนด์ในเรื่องนี้ได้

chatgpt เขียนบทความ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตอนนี้ธุรกิจกำลังอยู่ในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน งานบางขอบเขตที่ใครต่างก็คิดว่า AI ไม่น่าจะมาทำแทนได้ เช่น งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็กลับมี AI มากมายมาช่วยทำงานตรงนี้ได้ เช่น ใช้ ChatGPT เขียนบทความ เป็นต้น

หนึ่งในงานที่ AI สามารถเข้ามาช่วยได้ในหลากหลายแง่มุม คือ การสร้างสรรค์เนื้อหา (Content Creation) และธุรกิจเองก็สามารถใช้ ChatGPT เข้ามาช่วยในการทำคอนเทนต์ออนไลน์ได้หลากหลายแง่มุม เช่น ช่วยวางแผน ช่วยสืบค้นข้อมูล รวมถึงร่างไอเดียเบื้องต้น 

ในปัจจุบัน ChatGPT สามารถรับคำสั่งภาษาไทยได้ค่อนข้างดี แต่อาจจะยังมีข้อจำกัดในการให้คำตอบเป็นภาษาไทยอย่างเป็นธรรมชาติ จึงสำคัญมากที่ผู้ใช้จะต้องทำงานร่วมกันไปตลอดทาง (Co-pilot)

ลองมาดูกันว่า เราจะใช้ ChatGPT เขียนบทความ และยกระดับการสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ในด้านอื่นได้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ตกขบวนของการสร้างคอนเทนต์ยุคใหม่ที่หยิบยก AI เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย

ขั้นตอนการใช้ ChatGPT เขียนบทความ และช่วยทำคอนเทนต์

1. เริ่มระบุบริบทของงานให้ชัดเจน

เรื่องสำคัญที่สุดของการใช้ ChatGPT เข้ามาช่วยเหลือในการทำคอนเทนต์ออนไลน์คือการระบุบริบทให้ชัดเจน เช่น ผู้สร้างเนื้อหา (แบรนด์) เป็นใคร มี Brand Position แบบไหน กำลังพูดถึง Product ชนิดใด มีผู้ฟังเป็นใคร ไปจนถึงมีจุดมุ่งหมายในการสร้างคอนเทนต์แบบไหน

ที่สำคัญคือต้องระบุข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงลงไปให้ครบถ้วน เนื่องจากข้อมูล ChatGPT ยังไม่ใช่ข้อมูลอัปเดตล่าสุด และอาจมากจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือน้อย เราจึงต้องมีการตรวจสอบสิ่งที่ ChatGPT ตอบกลับมาตลอดเวลา

และเมื่อจะป้อนคำสั่ง (prompt) เพื่อสั่งงาน ChatGPT เราจะต้องมีการกล่าวถึงบริบทที่กล่าวมาข้างต้นให้ชัดเจน เช่น 

  • “ในฐานะแบรนด์อาหารเสริม ที่ต้องการขายอาหารเสริมด้านความจำสำหรับพนักงานออฟฟิศอายุ 25 ปีขึ้นไป ให้เสนอหัวข้อ Evergreen Content สำหรับเผยแพร่ในเว็บไซต์เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ในน้ำเสียงที่มีความน่าเชื่อถือแต่ดูมีพลัง จำนวน 10 หัวข้อ”

และบริบทตรงนี้จะถูกหยิบยกไปใช้ตลอดทางของการนำ ChatGPT มาใช้ในการสร้างคอนเทนต์

2. ใช้ ChatGPT สร้าง Content Pillars

ต่อมาคือการสร้าง Content Pillars หรือการกำหนดหมวดหมู่ต่าง ๆ ที่เป็นแกนกลางของคอนเทนต์ที่จะปล่อยออกมาหลาย ๆ ชิ้น เพื่อตอบโจทย์ของการสื่อสารของแบรนด์ในโปรเจ็กต์หนึ่ง ๆ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ ChatGPT สามารถช่วยระดมสมองได้

ตัวอย่าง Prompt ที่ใช้

  • คิด Content Pillars 4 แกน สำหรับบทความจำนวน 20 ชิ้น พร้อมชื่อหัวข้อบทความเบื้องต้น + [บริบท]

chatgpt เขียนบทความ

ตัวอย่างไอเดีย Content Pillars จาก ChatGPT โดยใช้บริบทที่ยกตัวอย่างในข้อ 1

สิ่งถัดมาคือการใช้ ChatGPT สร้าง Content Pillars ที่จะเป็นแนวทางในการสร้างเนื้อหาต่าง ๆ ในโปรเจ็กต์ เช่นการสร้างบทความ หรือวิดีโอ เพื่อแนะนำบริการของเรา นอกจากนี้ยังสามารถใช้ ChatGPT เพื่อตั้งชื่อหรือเกลาหัวเรื่องที่เหมาะสม

3. ใช้ ChatGPT ในการตั้งชื่อหัวเรื่อง

ในขั้นตอนนี้ เราสามารถนำ ChatGPT มาใช้ในการตั้งชื่อหัวเรื่องที่เหมาะสมสำหรับเนื้อหาที่เรากำลังจะสร้าง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ ChatGPT เพื่อเกลาหัวเรื่องตามระดับภาษาและอารมณ์ที่ต้องการได้อีกด้วย

ตัวอย่าง Prompt ที่ใช้

  • ขอไอเดีย Headline สำหรับบทความเกี่ยวกับวิธีรักษาสุขภาพที่ดีในสภาพแวดล้อมทำงาน จำนวน 5 หัวข้อ + [บริบท]
  • จากหัวเรื่องข้างต้น ปรับให้มีความมืออาชีพมากขึ้นและชวนสงสัยขึ้น จำนวน 5 ตัวเลือก

4. ใช้ ChatGPT แนะนำแหล่งข้อมูล

ChatGPT ยังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเนื้อหา เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวกับการลงทุนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโปรเจ็กต์นั้น

ตัวอย่าง Prompt ที่ใช้

  • แนะนำแหล่งข้อมูลสำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับ + [เรื่องที่สนใจ] + [บริบท] 

chatgpt เขียนบทความ

5. ใช้ ChatGPT สร้าง Content Outline

ส่วนต่อไปคือการให้ ChatGPT สร้าง Content Outline ที่เป็นโครงสร้างหลักของเนื้อหาที่เราต้องการสร้าง เราสามารถระบุได้ว่าอยากให้ ChatGPT ใส่เนื้อหากี่ส่วน หรืออยากใส่ส่วนไหนเป็นพิเศษ พร้อมลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเบื้องต้นได้

ตัวอย่าง Prompt ที่ใช้

  • สร้าง Content Outline สำหรับบทความเรื่อง + [หัวเรื่องบทความ] + ที่ประกอบด้วย 4 ส่วน พร้อมลงรายละเอียด + [บริบท]
  • ตัดเนื้อหาในส่วนที่ 3 และแทนที่ด้วย + [เนื้อหาที่ต้องการ]

6. ใช้ ChatGPT เขียนบทความ

จาก Content Outline ที่ได้รับ เราสามารถสั่งให้ ChatGPT เขียนบทความ จากโครงสร้างที่วางไว้ในแต่ละหัวข้อได้ (สำคัญคือผู้เขียนจะต้องเป็นผู้ป้อนข้อมูลและเช็กส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเสมอ) โดยจะต้องระบุบริบทต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อตอบจุดประสงค์ที่ต้องการในแต่ละคอนเทนต์ และขับเน้นให้บทความมีเอกลักษณ์ของแบรนด์มากขึ้น 

นอกจากนี้เราสามารถปรับเนื้อหาเบื้องต้นไปตามน้ำเสียง อารมณ์ Brand Position หรือผู้รับสาสน์ก็ได้

Prompt เขียนบทความ ของ ChatGPT

  • เขียนเนื้อหาตาม Content Outline ในแต่ละหัวข้อ
  • ปรับให้เนื้อหาเหมือนการเขียนโดย + [ลักษณะของผู้เขียน] เช่น ผู้เชี่ยวชาญ
  • ปรับเนื้อหาให้เหมาะกับ + [ลักษณะผู้ฟัง]
  • ปรับอารมณ์ให้เป็นกันเองมากขึ้น
  • ขอ feedback สำหรับบทความชิ้นนี้เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติม

ChatGPT สามารถช่วยธุรกิจในกระบวนการสร้างคอนเทนต์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอไอเดียใหม่ ๆ, การตั้งชื่อหัวเรื่อง, สร้าง Content Pillars, หรือการเขียนเนื้อหา เปิดโอกาสให้คนที่ทำงานด้านคอนเทนต์สำหรับแบรนด์นั้น ๆ สามารถลงแรงไปกับส่วนอื่น ๆ ของการทำคอนเทนต์ได้มากยิ่งขึ้น

ChatGPT เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในยุคสมัยใหม่ของการทำคอนเทนต์ แต่ต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้ว แม้ ChatGPT จะสามารถช่วยงานได้หลากหลาย แต่ก็ยังต้องปรับจูนและป้อนข้อเท็จจริง (และเช็กอย่างถี่ถ้วน) โดยคนทำคอนเทนต์ไปในแต่ละขั้นตอนตลอดทาง

แม้ ChatGPT ในเวอร์ชันปัจจุบันยังขาดการสร้างภาษาออกมาอย่างเป็นธรรมชาติอยู่บ้างในเวอร์ชันภาษาไทย แต่แน่นอนว่า AI อาจจะพัฒนาจนเก่งขึ้นได้มากกว่านี้ในอนาคต ซึ่งแบรนด์ที่คุ้นเคยกับการทำงานโดยนำ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานตั้งแต่วันนี้ ก็จะได้เปรียบแบรนด์อื่น ๆ ในโลกธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *